5/8/52

ลักษณะสำคัญของกฎหมาย

กฎหมายปัจจุบันจำต้องมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้จึงจะชื่อว่าเป็น "กฎหมาย"


1. กฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ กล่าวคือ ต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐาน ใช้วัดและกำหนดความประพฤติของสมาชิกในสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือไม่ได้เป็นต้น เช่น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ประชาชนสวมใส่ชุดดำเนื่องในการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่เป็นกฎหมาย เพราะไม่ใช่ข้อกำหนดที่บ่งบอกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ไม่อาจวัดเป็นมาตรฐานได้ว่าการแต่งชุดดำเช่นนั้นแล้วเป็นการถูกกฎหมาย การไม่แต่งผิดกฎหมาย และที่สำคัญ ประกาศนั้นเป็นแต่การเชิญชวน มิได้เป็นการบังคับ เป็นต้น


2. กฎหมายกำหนดความประพฤติของบุคคล กล่าวคือ กฎหมายควบคุมแต่ความประพฤติของบุคคลเท่านั้น มิได้ก้าวล่วงเข้าไปถึงจิตใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีควบคุมมนุษย์ได้ลึกซึ้งยิ่งกว่ากฎหมาย และกฎหมายนั้นหยาบกว่าสิ่งเช่นว่า ทั้งนี้ ความประพฤติที่จะถูกควบคุมมีองค์ประกอบ ได้แก่ 1) มีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย และ 2) การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวเช่นนั้นอยู่ภายในความควบคุมของจิตใจ กล่าวอีกชั้นคือ บุคคลรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่


3. กฎหมายมีสภาพบังคับ สภาพบังคับ (อังกฤษ: sanction) ของกฎหมายนั้นมีทั้งที่เป็นผลร้าย เช่น โทษทางอาญา และผลดี เช่น การลดภาษีเงินได้


สำหรับสภาพบังคับที่เป็นผลดีนั้น ในความจริงแล้วมนุษย์มิใช่จะปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเกรงจะได้รับผลร้ายเท่านั้น แต่อาจเพราะมีแรงจูงใจด้วย เช่น บทบัญญัติในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ว่า "ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการ..." เป็นต้น


4. กฎหมายมีกระบวนการอันเป็นกิจจะลักษณะ ในอดีต สำหรับการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายบางทีก็ใช้ระบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่สังคมสมัยใหม่ซึ่งมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือ รัฐออกกฎหมายและรัฐเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐสมัยใหม่จะไม่ยอมให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยประชาชนเลย เพราะจะทำให้คนที่แข็งแรงกว่ากระทำเกินเลยต่อคนที่อ่อนแอกว่าได้ กับทั้งจะเกิดความวุ่นวายประการอื่น ๆ
กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ รัฐกระทำผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี มีการเว้นให้ประชาชนบังคับใช้กฎหมายได้เองเป็นกรณีพิเศษ คือ 1) กรณีเพื่อการป้องกันตามกฎหมายอาญา เช่น การป้องกันตนเองจากภัยที่ใกล้จะถึง และการป้องกันนั้นไม่เกินกว่าเหตุ เป็นต้น และ 2) กรณีที่ได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมายแพ่ง เช่น กรณีเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง หากไปแจ้งทางราชการจะไม่ทันท่วงที กรณีเช่นนี้บุคคลไม่ต้องใช้สินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็น
ต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น