7/12/52

ค่ายธรรมทายาท

ดาบคมที่ไร้ฝัก ระเบิดที่ปราศจากสลักนิรภัย อาจนำอันตรายมาสู่เจ้าของและคนรอบข้างได้ทุกเมื่อฉันใด วิชาความรู้ที่ไม่มีศีลธรรมกำกับย่อมนำภัยพิบัติมาสู่ผู้เป็นเจ้าของความรู้และอยู่ใกล้เคียงได้ฉันนั้น บุคคลที่ประกอบด้วยวิชาความรู้ดี และความประพฤติดี จึงเป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์ เป็นบุคคลที่สังคมต้องการ และแสวงหา การฝึกอบรมค่ายธรรมทายาทเป็นกระบวนการที่ต้องการให้เกิดผู้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล มีโลกทัศน์และชีวทัศน์มีความสมดุลย์ระหว่างสมองทั้งสองด้าน มีความ สมดุลย์ระหว่างโลกกับธรรม กายกับจิตวิญญาณ เหตุกับผล สติกับปัญญา ก่อเกิดพลังสร้างสรรค์ตนเอง และอุทิศตนเพื่อรับใช้สังคมอย่างรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก โดยใช้คำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการอบรม

แนวคิดหลักในการอบรม
การอบรมในค่ายธรรมทายาท เกิดจากการนำปรัชญาการศึกษาทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ คือ
1. พัฒนากาย : การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างถูก
ต้องดีงาม
2. พัฒนาศีล : การพัฒนาการอยู่ร่วมในสังคมด้วยดี อย่างเกื้อกูลเป็นประโยชน์
และมีอาชีพที่ถูกต้อง
3. พัฒนาจิต : การฝึกอบรมเพื่อให้เกิดจิตที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
1.คุณภาพจิต : มีคุณธรรม สร้างเสริมจิตให้งดงาม
2.สมรรถภาพจิต : ความสามารถของจิต
3.สุขภาพจิต : มีจิตที่มีสุขภาพดี
4. พัฒนาปัญญา : ฝึกอบรมเพื่อให้เกิดปัญญา 5 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 : ความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยาการ
ระดับที่ 2 : การรับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
ระดับที่ 3 : การคิดวินิจฉัยโดยบริสุทธิ์ใจ
ระดับที่ 4 : การเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง รู้ทาง
เสื่อมทางเจริญ และเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รู้วิธีแก้ไข
ปัญหาและสร้างสรรค์ความสำเร็จ ที่ทำให้พัฒนาตน
พัฒนาชีวิตและสังคมให้เจริญดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป
ระดับที่ 5 : รู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เข้าใจความจริง
แท้จิตใจเป็นอิสระ หลุดพ้นจากทุกข์โดยสมบูรณ์

ปรัชญาค่าย
ทํนโต เสฎโฐ มนุสเสสุ = ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว ประเสริฐที่สุด
….เราเชื่อว่า….
“ คนจะดีได้ก็เพราะการฝึก…ฝึกมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น
เราเชื่อว่าคนเรานั้นพัฒนาได้ ให้ดีได้ เท่าที่เขาต้องการ
พัฒนาที่ใจของคนเรานี่แหละ คือ การพัฒนาที่ถูกต้อง
คนมีใจพัฒนาแล้ว จะไปสร้างประโยชน์ สร้างความดี สร้างวัตถุอะไรก็ได้”
2
วิธีการอบรม
๑. เสริมสร้างจิต กระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนสภาพทางจิต ยกจิตจากไร้คุณภาพไปสู่ดุลยภาพ โดยคิดใหม่ คิดล่วงหน้า เพื่อขจัดพฤติกรรมแบบเก่าๆ แล้วทดแทนด้วยความคิดแบบใหม่ เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ในทางสร้างสรรค์
๒. กระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ที่ดีงาม มีความเคารพ
๓. ปลูกจิตสำนึกในการทำงานเป็นทีม เป็นทีมงานธรรมทายาท มีวิญญาณแห่งการทำงานเป็นทีม คุณธรรม คือหัวใจของความสำเร็จ รู้จักใช้ระบบการสื่อสารยุคไร้พรมแดนเพื่อก้าวไปสู่โลกแห่งศตวรรษใหม่อย่างรู้เท่าทัน มุ่งไปข้างหน้า มิใช่ถอยหลังและหยุดอยู่กับอดีต
๔. ปรับตัวเข้า นำภาวะการเปลี่ยนแปลง กล้าปรับ กล้ารื้อระบบ กล้านำ กล้าทำ กล้าเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น ละมานะทิฎฐิได้
๕. ฝึกให้มีวินัยในตนเอง และเคารพกฎกติกาทางสังคม รู้จักการเป็นคนดีทางจริยธรรม ทั้งในการทำ การพูด
๖. ตั้งฐานจิต พิชิตการทำงาน เพื่อสร้างอุทยานแห่งความสำเร็จ (สัมมาสติ)
๗. ฝึกให้เก่งสุด อดทนเป็นเลิศและเย็นสุด (สัมมาสมาธิ) อยู่ตรงกลางระหว่างใหม่กับเก่า สุขกับทุกข์ ดีกับชั่ว ต่ำกับสูง ซ้ายกับขวา หน้ากับหลัง บนกับล่าง ร้อนกับเย็น เห็นความจริงปรากฏแจ่มชัด ผ่องใส เบิกบาน

สัญญาใจค่ายธรรมทายาท
คิดกว้าง มองไกล ใฝ่สูง
การอบรมเน้น ๔ ส. คือ สนุก สาระ สงบ และสำนึก

กติกาค่ายธรรมทายาท
กติกาในการอยู่ ค่ายพุทธบุตร นั้น ไม่เน้นระเบียบเป็นข้อ ๆ เหมือนทั่วไป แต่อาศัยการแนะนำพร่ำสอน ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความสำนึกว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ และสามารถบังคับตนเองได้ โดยสอนเน้นการประพฤติทางกาย วาจา ใจ ดังต่อไปนี้
ก.การประพฤติทางกาย
-ยืนเรียบร้อย -เดินเรียบร้อย -นั่งเรียบร้อย
-นอนเรียบร้อย -รับประทานอาหารเรียบร้อย -ไม่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น
-ไม่ทำลายของรักของผู้อื่น -ไม่ออกไปนอกบริเวณค่าย -ไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
-ไม่เสพของมึนเมาทุกชนิด -ไม่ซื้ออาหารมารับประทาน -ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่นด้วยเจตนาขโมย
-เดินผ่านพระอาจารย์ หรือครูอาจารย์ ให้ยกมือไหว้ทุกครั้ง -ต้องสำรวมกายตลอดเวลา
ข.การประพฤติทางวาจา
-ไม่พูดเท็จ พูดแต่คำจริง
-ไม่พูดคำหยาบ พูดแต่ถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดมีหางเสียง
-ไม่พูดยุยุงให้แตกความสามัคคีกัน พูดถ้อยคำที่มีประโยชน์เป็นสุภาษิต
-พูดด้วยจิตเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นได้ปัญญา มีความสุข
-พูดกับพระอาจารย์ต้องประนมมือไหว้ทุกครั้ง
ค.การประพฤติทางใจ
-มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
-เมื่อเห็นผู้อื่นมีความทุกข์ มีน้ำใจเอ็นดูคิดช่วยเหลือให้พ้นทุกข์
-เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความสุข ก็พลอยยินดีด้วย ไม่ริษยาไม่คิดทำลาย
-มีน้ำใจเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว โดยไม่ถือคติว่า “ เมื่อคราวต้องเสียสละเราออกหน้า เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเราอยู่หลัง”
-รู้จักให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น ไม่พยาบาทจองเวรผู้ใด
-ปล่อยวางได้ไม่ถือมั่นด้วยกิเลส ไม่ต่อความยาวสาวความยึด
สรุปความว่า
พุทธบุตร ต้องมีกายอ่อนน้อม วาจาอ่อนหวาน จิตใจอ่อนโยน

ระเบียบค่ายธรรมทายาท
ผู้เข้าค่ายฝึกอบรมคุณธรรมในค่ายธรรมทายาท ต้องปฏิบัติตน ดังนี้
- มีระเบียบ ในการเข้าออกห้องประชุม เปลี่ยนฐาน นั่งทำกิจกรรม
- สะอาด ภาชนะอาหาร ที่พัก ห้องประชุม
- สงบ ในห้องประชุม เวลาฟังธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม และเข้านอน
- ทำกิจกรรมตามลำดับก่อนหลัง เสมอ
- ตื่นตัวอยู่เสมอ ปรับตัวให้ทันเวลา ทันสถานการณ์ อย่าเฉื่อยชา อย่านิ่งดูดายเมื่อนกหวีด
- ครั้งที่หนึ่งดังขึ้น มีเวลาเพียงสองนาที ในการรวมกลุ่ม เมื่อนกหวีดครั้งที่สองดังขึ้น เราพร้อมที่จะปฏิบัติการ
- ยอมรับความจริง เมื่อผิดต้องยอมรับผิด อย่าเฉไฉ ปัดสวะให้ผู้อื่น พร้อมที่จะเผชิญกับทุกสภาพ ทุกสถานการณ์ด้วยสติปัญญา ไม่บ่น ไม่ท้อ
- ฝึกตนเองอยู่เสมอ ทางกายและวาจาทางกาย ต้องประสานมือตลอดเวลาที่อยู่ในค่าย ยกเว้นทำงาน ไม่ยืนหรือเดินรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ และประนมมือพูดกับ พระ ยืนตรงพูดกับครูอาจารย์เสมอ ทางวาจา พูดกับพระ มีหางเสียงว่า “เจ้าค่ะ” “ครับผม” เสมอ ละมานะทิฎฐิ ไม่เอาเปรียบเพื่อน ไม่เห็นแก่ความสบาย
- ไม่อยู่สองต่อสองระหว่างชายกับหญิง
- ไม่ออกนอกบริเวณค่ายก่อนได้รับอนุญาต
- ห้ามนำสิ่งของมีค่าเครื่องประดับติดตัว คณะพระพระอาจารย์และครูอาจารย์ไม่รับผิดชอบ
- บันทึก สิ่งที่ได้รับการอบรมทุกกิจกรรม และก่อนนอนบันทึกประจำวันส่ง
- ร่วมกิจกรรมทุกอย่าง กิจกรรมทุกอย่างจะทำให้เรามีการพัฒนา
- ไม่ส่งเสียงคุยกันในห้องประชุม ห้องอาหารและห้องนอน อยู่ในอาการอันสงบสำรวม
- ห้ามเสพสิ่งเสพติดทุกชนิด ถ้าพบเห็น หรือทราบ จะต้องได้รับโทษขั้นหนัก
- ห้ามก่อการทะเลาะวิวาทในค่าย หากเกิดขึ้นต้องให้ออกจากการอบรมทั้งสองฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น