7/12/52

ค่ายธรรมะเพื่อจิตใจเป็นสุขสงบ

เดินจงกรม สงบกาย สงบใจ



สมาธิเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะหมายถึงการมีสติที่จะจัดการและควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ราบรื่น ดังนั้น หากได้รับการฝึกให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็กๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ จะทำให้เด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีจิตใจสงบเป็นสุข และมีความมั่นคงทางอารมณ์ การเข้าค่ายธรรมะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสมาธิให้เด็กๆ ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) ได้จัดค่ายธรรมะกับเยาวชนขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการค้นพบตัวตนกับทีเค พาร์ค ที่วัดป่าสุนันทวาราม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีหลวงพ่อชา สภทฺโท พระนักปฏิบัติผู้โด่งดังเป็นเจ้าอาวาส ว่าไปแล้วค่ายนี้จะแตกต่างจากค่ายทั่วๆไปที่เราเคยพบเห็นที่เน้นเรื่องกิจกรรมสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ แต่ค่ายนี้กลับให้ความสำคัญเรื่องการรู้จักอยู่กับตัวเอง สังเกตพฤติกรรม รู้จักสำรวมกาย วาจา ใจ และได้ฝึกนั่งสมาธิอีกด้วย การที่จัดให้เด็กทั้งชายและหญิงตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 เกือบ 20 คนได้มาฝึกการใช้ชีวิตร่วมกันที่วัดป่าสุนันทวนาราม ที่รายล้อมไปด้วยภูเขาและแมกไม้เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่ตื่นตอนเช้ามืดจนกระทั่งนอนหลับ อาจเป็นเรื่องที่วุ่นวายน่าดูแต่แล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้น

อาจารย์อารี สิริโยธิน หัวหน้าวิทยากรจากโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวว่า การจัดค่ายครั้งนี้เน้นกิจกรรม 3 อย่างในตัวเด็ก คือ กาย วาจา ใจ ทางกายฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง กำกับตัวเองให้ได้ วาจา ต้องรู้จักปิดวาจา อยู่กับตัวเองเวลารับประทานอาหาร รวมทั้งการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น ส่วนใจ เด็กๆ จะรู้จักสงบจิตใจเพื่อฝึกความอดทนในช่วงเดินจงกรม เนื่องจากเด็กสมัยนี้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งเร้าหลายๆ อย่างที่กระตุ้นให้เขาต้องเร่งรีบตลอดเวลา ทั้งเกม คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่ทำให้เราไม่รู้จักการฟังคนอื่น จนกลายเป็นคนไม่มีสมาธิหรือสมาธิสั้น ทำอะไรได้เพียงชั่วครู่ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแล้ว

“ผลพวงของการรับวัฒนธรรมต่างชาติ สภาพสังคม ทำให้ในแต่ละวันมีเรื่องคิดมากจนเกือบลืมวิถีเดิมของชาวพุทธ คือการได้พาเด็กๆ ไปวัดในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รู้จักการสวดมนต์ นั่งฟังคำสอนจากพระ แต่ครูก็ดีใจท่ามกลางสังคมที่แปรเปลี่ยนไป ก็มีผู้ปกครองหลายคนมีความตระหนักในเรื่องนี้จึงส่งเด็กมาค่ายธรรมมะ แม้จะเป็นระยะสั้นๆ เพียง 3 วันแต่เมื่อเขากลับไปบ้าน ครูเชื่อว่าเขาจะเห็นคุณค่าและความสำคัญของกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น การสวดมนต์เป็นเวลานาน 2-3 ชั่วโมง หรือการเดินจงกรม เป็นต้น” อาจารย์อารี กล่าว

อาจารย์อารี กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่พาเด็กมาเข้าค่ายธรรมะหลายครั้งในเด็กแต่ละกลุ่มที่มีอายุแตกต่างกันไป สังเกตว่าการพาเด็กมาเข้าค่ายธรรมะสามารถช่วยขัดเกลาด้านจิตใจของเด็กๆ ได้เยอะทีเดียว เมื่อมีสมาธิใจก็จะมีความประณีต ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการแสดงออก คือจากเด็กที่แข็งกระด้าง พูดจาไม่สุภาพ ก็อ่อนโยนขึ้น รู้จักประมาณตัวเอง รู้กาลเทศะ เวลา และสถานที่ ทั้งยังมีไหวพริบเพราะสมองดี ปัญญาก็เกิด พอมีปัญญาย่อมทำให้ฉลาดที่จะเลือกรับสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต

ขณะที่พระอาจารย์หนูพรหม สุชาโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม บอกว่า การเข้าค่ายครั้งนี้มีส่วนในการพัฒนาจิตใจของเด็กได้มากทีเดียว เพราะอย่างน้อยได้ฝึกให้เขารู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ฝึกสมาธิ ฝึกสวดมนต์ ซึ่งเมื่อกลับไปแล้วพ่อแม่ก็ควรที่จะสานต่อโดยการพาเด็กๆไปวัดบ้างในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งเรื่องธรรมะ สมาธิ จะค่อยๆ ซึมซับลงไปในจิตใจของเด็กๆ เหมือนการปลูกต้นไม้ที่ค่อยๆ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ดูแลรักษาจึงจะได้ผลออกมาคุ้มค่า เด็กๆ เป็นไม้อ่อนว่าง่ายสอนง่าย พ่อแม่จึงต้องปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้

“วัยเด็กเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่างในญี่ปุ่นวัยรุ่นมีข่าวฆ่าตัวตายกันเยอะ เพราะว่าเขาไม่มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสกับความสงบ ฝึกปฏิบัติสงบจิต-สงบใจในวัดอย่างบ้านเรา เวลามีปัญหาก็หาทางออกไม่ได้ ส่วนบ้านเราเป็นดินแดนพระพุทธศาสนา ในต่างจังหวัดเด็กได้มาวัดกับพ่อแม่ ย่ายาย ส่วนเด็กในกรุงเทพฯ ก็น่าเป็นห่วงนะ ไม่ค่อยได้ไปวัด เติบโตขึ้นมาพ่อแม่มักพาไปห้างแทน” พระอาจารย์หนูพรหม กล่าว

พระอาจารย์ กล่าวด้วยว่า ทั้งเรื่องของสมาธิและความอดทนเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตในประจำวัน เวลาที่เราโกรธใครก็ตาม เราก็เอาความอดทนไปใช้ ไม่ทำตามอารมณ์โกรธ มิฉะนั้นไฟโกรธจะยิ่งลุกลามเผาตัวเอง เพื่อนที่ดีต่อกันมานานอาจกลายเป็นศัตรูได้ในพริบตา จริงอยู่ที่เรื่อง ความโลภ โกรธ หลงเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนทั่วไป หากแต่เราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองแล้วจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม



นั่งเขียน นอนเขียน ตามความสบายใจ



บรรยากาศภายในวัดเอื้อต่อการขัดเกลาจิตใจเด็ก

กะละมังข้าว เป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกที่ทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้ต้องใช้เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร ครูเฉิม-บุญญรัชฎ์ สาลี แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ อธิบายว่า การรับประทานข้าวด้วยกะละมังแทนที่จะใช้จานเหมือนวัดทั่วไปนั้น เป็นการจำลองการฉันอาหารของพระโดยใช้บาตร เมื่อใช้ชามใบใหญ่ที่เป็นสังกะสี สิ่งแรกทำให้เด็กๆ ต้องรู้จักการกะประมาณ เลือกตักอาหารได้ตามใจชอบแต่ต้องรับประทานให้หมด อีกข้อหนึ่งคือการรับประทานต้องมีสติอยู่กับตัว ไม่ให้มีเสียงช้อนกระทบกับกะละมัง สรุปแล้วสำรวมทั้งกายวาจาและใจขณะรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ก่อนรับประทานในแต่ละมื้อมีการท่องบทพิจารณาอาหารที่ระลึกถึงบุญคุณของอาหารดังว่า

“อาหารนี้ ข้าพเจ้าจะรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี เพื่อปฏิบัติธรรม ไม่รับประทานเพื่อบำรุงกิเลส ตัณหา อุปาทาน ขอให้ท่านผู้บริจาคและผู้บริการทุกท่านจงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากโรคภัย อันตราย ทั้งปวง เทอญ” ในช่วง 3 สังเกตได้ว่าไม่มีน้องๆ คนใดรับประทานอาหารเหลือเลยแม้จะใช้ชามใบใหญ่ก็ตาม อาจเป็นเพราะซาบซึ้งในพระคุณของแม่โพสพ

ตัวเรือนนอน ปราศจากไฟฟ้า ในช่วงเย็นหลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เด็กๆ ทุกคนต้องรีบอาบน้ำเพื่อเตรียมตัวไปเดินจงกรมและทำวัตรเย็นเวลา 18.00 น. เมื่อทำวัตรเสร็จจะนั่งฟังธรรมะจากพระอาจารย์ที่ผลัดกันมาสอนธรรมะที่ให้ข้อคิดดีๆ แก่เด็กๆ จากนั้นก็เดินกลับยังที่พักเพื่อเตรียมเข้านอน เนื่องจากที่วัดแห่งนี้ปั่นไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งเริ่มเปิดตอนตี 4 และปิดตอน 4 ทุ่ม หลังจากนั้นทุกคนก็เข้านอนภายในโรงนอนที่มืดสนิทจนเห็นดาวเต็มท้องฟ้าพร้อมกับฟังเสียงจักจั่นและเรไรจนหลับไป

เดินจงกรม ท่ามกลางธรรมชาติ-ป่าเขา ที่วัดแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 1,500 ไร่จึงไม่แปลกที่เส้นทางเดินจงกรมในแต่ละเช้าจะไม่ซ้ำกัน ทุกคนจะได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติอย่างแท้จริงว่าสดชื่นและน่ารื่นรมย์ แม้จะเดินวันละ 2 กิโลเมตรแต่ไม่รู้สึกว่าไกล เพราะสองข้างทางมีต้นไม้ เสียงนกร้องคล้องใจเด็กให้เดินอย่างมีสมาธิ

เด็กรุ่นใหม่ ห่างไกลวัด

นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมที่วัดป่าสุนันทวนารามร่วมกับเด็กๆ ด้วย กล่าวว่า จัดค่ายนี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตตามแบบอย่างพระพุทธศาสนา ที่มีการฝึกสมาธิ ฝึกจิตใจให้สงบ ทั้งนี้ อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเด็กสมัยนี้สนใจกับวัตถุนิยมมากจนเกินไป และน้อยครั้งจะมีโอกาสเข้ามาสัมผัสการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อมาวัดแล้วเด็กๆ ได้มาสัมผัสธรรมชาติ พื้นดิน ต้นไม้ มีบรรยากาศที่เงียบสงบ ตื่นเช้ามารู้สึกสดชื่น ไม่ต้องกังวลกับเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

“อย่างน้อยที่สุดเขาจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเอง รู้จักว่าการกราบพระกับกราบคนแตกต่างกันอย่างไร เป็นการปลูกฝังสมาธิ สติ และปัญญาไปพร้อมๆ กัน เมื่อกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งจะเป็นตัวจุดประกายให้เด็กรู้สึกว่าวัดไม่ใช่เป็นสถานที่สำหรับคนรุ่นปู่ย่าตายาย ใครๆ ก็ไปวัดได้ อีกทั้งหลักธรรมที่พระอาจารย์สอนเขาก็สามารถนำไปใช้ได้จริงๆ ท่ามกลางวิกฤตของสังคม เมื่อเขาได้เข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาในเบื้องต้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อเขาไม่น้อยและก็นำไปใช้ได้ทุกโอกาส”



ตักอาหารอย่างมีสติ



น้องๆ เห็นพ้อง ‘ค่ายนี้ฝึกความอดทนได้จริงๆ’

น้องยีน-วิภาวี ยามัสเสถียร นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ บางรัก บอกว่า อยากมาค่ายนี้เพราะกำลังขึ้น ม.6 ใกล้สอบเอนทรานซ์แล้วจึงอยากมาสงบจิต สงบใจ ก่อนที่จะอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบในระยะอันใกล้นี้

“ยีนว่ามาค่ายนี้ช่วยฝึกความอดทนให้ยีนได้มากทีเดียว เพราะเราต้องสวดมนต์นานๆ เดินจงกรมไกลๆ ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เวลาที่เราอ่านหนังสือ ก็ชอบทำตามใจตนเอง เช่น พออ่านหนังสือได้ 1 ชั่วโมงก็ต้องหยุดพักก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วเราอดทนได้มากกว่านั้น เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยลองและไม่เคยรู้ว่าตัวเองทำได้ พอกลับไปต้องฝึกให้อย่างน้อยได้เท่ากับที่เคยนั่งสวดมนต์ที่วัดป่าฯ ที่รู้จักขีดการพักที่ไม่นานเกินไป จากนั้นจึงไปอ่านต่อ”

สำหรับหนูน้อยวัยซนอย่าง ด.ช.ณัฐชนน ฉายารัตนศิลป์ หรือน้องนน วัย 12 ปี จากโรงเรียนทอสี เขตคลองตัน เล่าพลางยิ้มอย่างอารมณ์ดีว่า ไม่เคยนั่งสวดมนต์นาน 3 ชั่วโมงขนาดนี้ อยู่ที่บ้านสวดมากที่สุดได้เพียง 15 นาทีก็หมดความอดทน ต้องลุกขึ้นเดิน มาค่ายนี้ก็ดีอย่างแรกได้ความอดทน สองได้ฝึกสมาธิ ทำให้ไม่กลัวผี เพราะตอนที่เดินกลับจากทำวัตรเย็นต้องเดินกลับจากศูนย์เยาวชนมาที่พัก สองข้างทางมืดสนิท มองไปบนท้องฟ้าเห็นดวงดาว อยู่กรุงเทพฯ สงสัยว่าทำไมถึงไม่มีดาวบ้าง อีกอย่างมาค่ายนี้แล้วได้เพื่อนเยอะ ทำให้ได้ใกล้ชิดวัด เพราะอยู่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ไปวัด
ส่วนออมสิน-จิรสิน จิรายุวัฒนกุล จากโรงเรียนอนุบาลสามเสน บอกว่า จะนำเรื่องสมาธิไปใช้กับการเรียน เพราะถ้ามีใจจดจ่อกับการเรียนจะทำให้สนใจกับการเรียนมากขึ้น เมื่อก่อนสนใจแต่เกม ส่วนกิจกรรมชอบการเดินจงกรมมาก เพราะพระอาจารย์พาเดินไปชมธรรมชาติ ได้กลิ่นน้ำค้างยามเช้า ทำให้จิตใจสงบได้มากขึ้น

ผู้ปกครองตั้งใจอยากให้ลูกจิตใจสงบก่อนเปิดเรียน

นิภา ฉายารัตนศิลป์ คุณแม่ของน้องนน บอกว่า อยากให้น้องนนไปค่ายครั้งนี้เพื่อนเตรียมตัวสงบจิต สงบใจให้มีสมาธิ รวบรวมสติก่อนเปิดเรียน เพื่อว่าไปโรงเรียนแล้วจะได้มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น ไม่วอกแวก ผลการเรียนออกมามีคุณภาพ ที่สำคัญค่ายนี้แตกต่างไปจากค่ายอื่นตรงที่ให้ความสำคัญเรื่องสมาธิ ฝึกสงบจิตใจ ซึ่งไม่ค่อยเห็นหน่วยงานอื่นจัดบ่อยนัก

“ปกติเขาไม่ค่อยมีระเบียบ ทำอะไรได้ไม่นาน กลับมาแล้วเขาน่าจะดีขึ้นบ้าง อีกอย่างเขาจะได้รู้จักดูแลตัวเอง ช่วยเหลือเพื่อนฝูง บางทีแม่จู้จี้ เขาก็ไม่ชอบ เมื่อไปวัดเขาจะได้รู้หลักการใช้ชีวิตจริงๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีแม่เคียงข้างสักระยะ” คุณแม่นิภา กล่าว

ขณะที่คุณแม่พรทิพย์ จุลสัญญา แม่ของน้องเหว่ย วัย 8 ขวบ บอกว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมากเพราะเขายังเด็กอยู่ แต่อย่างน้อยค่ายนี้เปิดโอกาสฝึกให้เขารู้จักการดำเนินชีวิตตามแบบพระพุทธศาสนาในวัดป่าท่ามกลางธรรมชาติ ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่วัดป่าสุนันทวนาราม แต่ยังเชื่อว่าน้องเหว่ยน่าจะได้รู้จักสมาธิและความสงบติดตัวกลับมาบ้าง

แม้ว่าค่ายเยาวชนกับธรรมะครั้งนี้จะจบลงในระยะเวลา 3 วัน แต่เชื่อว่าคำสอนจากพระอาจารย์ การฝึกนั่งสมาธิ เดินจงกรม รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เด็กๆ ได้ตั้งใจมาเข้าค่ายครั้งนี้จะติดตัวเขากลับไป ไม่ว่าจะนานแค่ไหนแม้ยังไม่เห็นผลทันตาในทันที อย่างน้อยที่สุดเขามีโอกาสเข้ามาเรียนรู้สัมผัสชีวิตจริงภายใต้ร่มพระพุทธศาสนา ค่อยๆ ซึมซับลงไปในจิตใจ ขัดกล่อมให้มีสติ รู้เท่าทันกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น