'ดูจิต' การปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ
การดูจิตก็คือการใช้สติตามรู้ตามดู
อารมณ์และอาการของจิตในปัจจุบันตามจริงครับ
ที่ใช้คำว่าตามดูนั้นเพราะต้องปล่อยให้จิตทำงานของเขา
จิตไหลไปคิดก่อนแล้วเมื่อสติเกิด กระบวนการคิดจะหยุดลง
จิตที่ทำหน้าที่ระลึกรู้สภาวะเกิดขึ้นแทนครับ
เราดูเพื่อให้รู้อาการของจิตที่ไหลไปคิด ไม่ได้ดูให้รู้ความคิด
ไม่พยายามกดข่มความคิด และไม่ไปช่วยจิตคิดอะไรต่อ
มิเช่นนั้นเราจะไม่สามารถรับรู้สภาวะที่แท้จริงได้ครับ
ส่วนการที่เมื่อสติเกิดและรับรู้สภาวะอารมณ์หรืออาการของจิตตามจริงแล้ว
นำมาพิจารณาต่อ เป็นต้นว่าเห็นอาการของจิตที่อาฆาตพยาบาท
แล้วพิจารณาว่าเป็นทุกข์ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ยังจิตให้เบิกบาน
นี้เป็นกระบวนการโยนิโสมนสิการ ผลลัพธ์เรียกว่าปัญญาได้เช่นกัน
สิ่งที่เราต้องรู้ ต้องดู ในระหว่างการปฏิบัติธรรม
ประกอบด้วย 1. อารมณ์(ของจิต) 2. อาการ(ของจิต) และ 3. จิต
เริ่มต้นด้วยการรู้ อารมณ์ ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อารมณ์นั้น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์หรืออารมณ์ทางใจ
เมื่อรู้อารมณ์แล้ว จะเห็นชัดเจนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั้น
จิตจะมี อาการ หรือมีปฏิกิริยาต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์อยู่เสมอ
เป็นความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็น "กลาง" บ้าง
เมื่อยินดี จิตก็ทะยานออกไปยึดถือเป็นเจ้าของอารมณ์นั้นๆ
เมื่อยินร้าย จิตก็ทะยานออกไปปฏิเสธอารมณ์นั้นๆ
เมื่อเป็น "กลาง" จิตก็ยังหลงอยู่ในความเป็นเราของจิต
ผู้ปฏิบัติต้องรู้ทันอาการของจิตตามความเป็นจริง
ซึ่งอาการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น อารมณ์ทางใจ
ที่เกิดต่อเนื่องจากการรู้อารมณ์ในเบื้องต้นนั่นเอง
เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว
ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง
กระทั่งความเป็น "กลาง" จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป
จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง
ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง
ถัดจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายอีก
ให้จิตรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลางไปตามธรรมชาติธรรมดา
โดยไม่หลงใหล หรือหลง "ไหล" ไปตามมายาของกิเลส คือไม่ส่งออกนอก
แล้วจิตก็จะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งไปตามลำดับ
อย่างอื่น ก็จะรู้เองเป็นเองโดยไม่ต้องถามใคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น