24/10/52

10 เคล็ดลับการออมเงินสู้วิกฤต..(ฉบับไม่หวงลิขสิทธิ์ครับ)

1. ให้หัก 10 %ของรายรับเก็บเอาไว้เป็นเงินออม เป็นการสร้างวินัยการออมขั้นพื้นฐาน โดยแทนที่จะใช้สูตรเก่าคือ รายได้ – รายจ่าย = เงินออม ให้เปลี่ยนเป็น รายได้ - เงินออม = รายจ่าย หมายถึงว่าทุกเดือนหรือทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา ต้องหักไว้อย่างน้อย 10 % เป็นเงินออมอย่างประจำและสม่ำเสมอเอาไว้ก่อน ที่เหลือจึงนำมาใช้จ่ายได้ นี่เป็นเสมือนบันไดขั้นต้นในการสร้างวินัยทางการเงินของตัวเอง

2. เงินเดือนเพิ่มแต่ไม่ใช้เงินเพิ่ม หลายคนบอกว่าข้อนี้ทำยากมาก เป็นเรื่องผืนธรรมชาติของคนเอามากๆเลย ก็เพราะยิ่งมีรายได้มากขึ้น ก็อยากใช้ของดี กินของแพง ซื้อเสื้อผ้าดีๆ อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นธรรมดา แต่ก็มีไม่น้อยที่ดันใช้เงินเพลินเกินตัวจนเป็นหนี้เป็นสิน เคล็ดลับข้อนี้แม้จะดูฝืนไปบ้าง ก็ลองพบกันครึ่งทางก็คือ ใช้เงินเพิ่มก็ได้แต่ต้องให้น้อยกว่าหรือไม่เกินครึ่งหนึ่งของรายได้ที่เพิ่ม ถ้าทำได้รับรองมีเงินออมแน่นอนครับ

3. เงินได้มาเท่าไหร่ อย่ารีบใช้ ให้เก็บทั้งหมดไว้ก่อน(เงินโบนัส) เงินพิเศษ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินโบนัสที่มักเป็นเงินก้อนใหญ่และอาจถูกจัดเป็นเงินร้อนรีบใช้ มาไวไปไว นอกจากนี้บางคนถึงขนาดพอรู้ว่าจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ ก็ไปก่อหนี้รอเอาไว้ก่อนเลย เงินออกมาเมื่อไหร่จึงเอามาโปะคืน บางรายหนักกว่านี้ โดยไปเป็นหนี้มากกว่าโบนัสอีก คือนอกจากจะไม่เหลือเงินออมแล้ว ยังเป็นหนี้เพิ่มอีกด้วย

4. ทำบัญชีรับจ่ายรายวัน อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นวิธีเฉพาะสำหรับคนขี้ตืดเท่านั้นนะครับ แต่เป็นวิธีการที่ง่ายที่ทำให้เรารู้ค่าใช้จ่ายอย่างละเอียด ประเมินการใช้เงินของตัวเองได้ทุกวัน คนที่ทำได้รวยไปหลายรายแล้วครับ


5. หยุดเวลา หมายถึงจำกัดรายจ่ายเอาไว้ ไม่ให้เพิ่มตามอายุเรา ฟังดูเหมือนจะคล้ายข้อ 2 เพียงแต่มีจุดของเวลากำกับไว้ด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันอายุ 40 ปี แต่กำหนดเพดานรายจ่ายส่วนตัวเอาไว้เท่ากับตอนที่อายุ 30 ปี ทำมาสม่ำเสมอเป็น 10 ปีแล้ว เคยมีรายจ่ายเท่าไหนก็เท่านั้นคุมเอาไว้เลย ตอนนี้มีเงินเก็บก้อนโตตามเป้าหมาย

6. แบ่งเงินเป็น 5 ส่วนอย่างเป็นระบบ เป็นการจัดการใช้เงินออกเป็น 5 ส่วนเท่าๆกัน(ส่วนละประมาณ 20%) คือ ดูแลพ่อแม่,จัดการเรื่องลูก,ออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน,ใช้จ่ายส่วนตัว, ลงทุนเพื่อให้เงินทองงอกเงย

7. มีสติในการใช้จ่ายและนึกถึงหน้าลูกทุกครั้งที่จะจ่ายเงินออกไป ข้อนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นคุณยอดคุณแม่แสนดี ที่ตอนก่อนจะมีลูก ตัวเองจัดอยู่ในประเภทช้อปกระจาย แต่พอมีลูกแล้วปรากฏว่ามีพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทุกครั้งที่จะใช้เงินพอนึกถึงหน้าลูกแล้วไม่อยากใช้เงินเสียดาย อยากเก็บไว้ให้ลูกเยอะๆ ลูกจะได้สบายและมีอนาคตที่ดี ฟังอย่างนี้แล้วต้องยกตำแหน่งซุปเปอร์คุณแม่ให้ด้วยครับ(ผมอยากให้คุณลูกรู้และสำนึกถึงความดีของคุณแม่จังเลย)

8. ทยอยลงทุน ใช้ในกรณีมีเงินออมแล้ว ควรรู้จักวิธีการลงทุนในหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร บนระดับความเสี่ยงที่รับได้ และควรเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป

9. จ่ายไปเท่าไหร่ก็เก็บเงินชดเชยไว้เท่านั้น เช่นในกรณีไปรูดบัตรเครดิตเอาไว้หลายครั้ง รวมแล้วเป็นหมื่นก็จริง แต่ทุกครั้งที่รูดก็จะกันเงินเอาไว้เท่ากันทุกครั้ง ผลก็คือไม่ต้องปวดหัวเวลาจ่ายหนี้เนื่องจากกันเอาไว้จ่ายเรียบร้อยแล้ว ไม่กระทบกับเงินออมที่เตรียมเอาไว้

10. ซื้อประกันชีวิต หรือกระจายเงินออมในรูปแบบของกองทุนระยะยาวเช่น กองทุนRMF หรือ กองทุน LTF เพราะจะได้มีข้ออ้างที่สมเหตุสมผลฟังดูดีมีรสนิยม เวลาที่มีเพื่อนฝูงและบรรดาญาติที่รู้ว่าเรามีเงินออมมาก แล้วชอบมายืมเงินเรา เป็นทางทางออกนิ่มๆครับ


เขียนโดย ยุทธนา กระบวนแสง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น