แปลโดย ลานา อัมรีล
http://www.musliminventionsthailand.com/main/index.php
ชาวอเมริกันและยุโรปมักคิดว่าอาหารของชาวมุสลิมมีแค่แกงกะหรี่ เคบับ จาปาตี และพิตต้า ไม่เคยคิดกันเลยว่าอาหารและเครื่องดื่มอีกมากมาย, โดยเฉพาะของโลกตะวันตก, ถือกำเนิดมาจากโลกมุสลิม
หนึ่งในตัวอย่างนั้นก็คือ ‘กาแฟ’ – อาหารมื้อเช้าของทุกบ้าน
เรามาดูกันว่ากาแฟมีต้นกำเนิดจากไหน พัฒนามาเป็นกาแฟที่เราดื่มกันในทุกวันนี้ได้อย่างไร
กาแฟถูกคิดค้นขึ้นมาโดยชาวมุสลิมในศตวรรษที่ 9 เรื่องมีอยู่ว่า ชายอาหรับชื่อ คาลิด (Khalid) กำลังเลี้ยงแพะอยู่ที่คัฟฟา (Kaffa) ภาคใต้ของประเทศเอธิโอเปีย เขาสังเกตเห็นว่า หลังจากแพะของเขากินผลไม้เล็กๆ บางชนิดแล้ว พวกมันจะมีชีวิตชีวาขึ้น เขาเลยต้มผลไม้เหล่านี้เพื่อทำกาแฟชนิดแรกของโลก จากนั้นกาแฟถูกนำจากเอธิโอเปียไปยังประเทศเยเมน ซึ่งชาวเยเมนเรียกว่า ‘อัล-ฆาฮ์วา’ (Al-Qahwa) เชื่อกันว่าคนกลุ่มแรกที่นิยมดื่มกาแฟคือชาวมุสลิมซูฟี ซึ่งใช้กาแฟเป็นสารกระตุ้นให้ไม่ง่วงนอน สามารถซิเกรต่อพระเจ้าได้ตลอดทั้งคืน ในปลายศตวรรษที่ 15 เครื่องดื่มนี้ถูกนำไปยังเมืองเมกกะ ซาอุดิอารเบีย แล้วไปยังตุรกี และไคโร อียิปต์ ในศตวรรษที่ 16 จากนั้นกาแฟแพร่หลายไปทั่วโลกมุสลิมผ่านทางนักเดินทาง ผู้แสวงบุญ (ประกอบพิธีฮัจย์ที่เมกกะ) และพ่อค้า
คำเรียก ‘กาแฟ’ ในภาษาอารบิกว่า ‘ฆาฮ์วา’ (qahwa) ได้กลายมาเป็น ‘คาฮ์เว’ (kahve) ในภาษาตุรกี จากนั้นกลายมาเป็นภาษาอิตาเลียนว่า ‘คาฟเฟ’ (caffe) จนในที่สุดกลายมาเป็นภาษาอังกฤษว่า คอฟฟี่ (coffee หรือ กาแฟ ในภาษาไทย)
กาแฟในอิตาลี
บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่ากาแฟแพร่เข้าสู่ยุโรปครั้งแรกผ่านทางอิตาลี โดยการค้าระหว่างเวนิซกับอาฟริกาเหนือ, อียิปต์, และโลกตะวันออก ซึ่งนำสินค้าจากโลกมุสลิม, รวมทั้งกาแฟด้วย, ไปยังเวนิซ ซึ่งเป็นท่าเรือชั้นนำของยุโรป ต่อมาเมื่อได้ลิ้มรสกาแฟแล้ว พ่อค้าเมืองเวนิซก็รู้ว่าสามารถทำเงินจากสินค้าชนิดนี้ได้แน่ๆ พวกเขาเลยเร่งนำเข้ากาแฟกันขนานใหญ่ตั้งแต่ปี 1570 เป็นต้นมา ตอนแรกแพร่เข้าสู่วงสังคมชั้นสูงก่อน จากนั้นไปสู่คนทุกระดับ
ร้านกาแฟแห่งแรกของเวนิซเปิดขึ้นในปี 1645 จากนั้นภายในร้อยปีเศษคือปี 1763 เวนิซมีร้านกาแฟอย่างน้อยก็ 218 แห่ง ท้ายที่สุด กาแฟก็กลายเป็นสินค้าหลักระหว่างเวนิซและเมืองต่างๆ เช่น อมาลฟี ตูริน เจนัว มิลาน ฟลอเรนซ์ และโรม และต่อมาก็แพร่หลายสู่เมืองอื่นๆ ในยุโรป
กาแฟในอังกฤษ
ร้านกาแฟแห่งแรกในอังกฤษเปิดขึ้นในปี 1650 โดยนักธุรกิจชื่อ ‘จาคอบ’ ร้านของเขาตั้งอยู่ที่แองเจิล เขตเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของอีสต์ออกซ์ฟอร์ด
ดาร์บี (Darby) ระบุว่า กาแฟแพร่เข้าสู่อังกฤษผ่านการติดต่อกับจักรวรรดิออตโตมัน โดยพ่อค้าตุรกีชื่อ ‘ปาสกัว โรซี’ (Pasqua Rosee) เป็นคนแรกที่ขายกาแฟที่ร้านกาแฟในจอร์จ-ยาร์ด, ลอมบาร์ดสตรีท ลอนดอน
ต่อมาในปี 1658 ร้านกาแฟอีกแห่งหนึ่งก็เปิดขึ้นมาที่คอร์นฮิลล์ ชื่อร้าน ‘สุลต่านเนสเฮด’ (Sultaness Head) และเพียง 50 ปีให้หลัง ในปี 1700 ลอนดอนมีร้านกาแฟถึง 500 แห่ง
กาแฟในฝรั่งเศส
กัลแลนด์ (Galland) ได้ระบุว่า กาแฟแพร่เข้าสู่ฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 1644 โดยชายชาวมาร์กเซยนำเมล็ดกาแฟกลับมาจากอิสตันบุล เขามิได้นำกลับมาแค่กาแฟ แต่ขนเครื่องต้มกาแฟมาด้วย
ในปี 1671 ร้านกาแฟแห่งแรกของฝรั่งเศสก็ถือกำเนิดขึ้นมาที่เมืองมาร์กเซยในย่านแลกเปลี่ยนเงินตรา และต่อมาแพร่ไปสู่เมืองอื่นๆ ของฝรั่งเศส
กาแฟในประเทศอื่นๆ ของยุโรป
หลังจากอิตาลี อังกฤษ และฝรั่งเศสแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มนิยมดื่มกาแฟ อย่างเช่นที่เยอรมนี หลังจากกองทัพออตโตมันต้องพ่ายไปหลังล้อมกรุงเวียนนาในปี 1683 สิ่งที่กองทัพเติร์กทิ้งไว้หลังเลิกทัพก็คือเมล็ดกาแฟจำนวนมหาศาล กองทัพยุโรปที่ยกมาช่วยออสเตรียในตอนนั้น, รวมทั้งเยอรมันและโปแลนด์และประเทศอื่นๆ, ต่างก็ขนเมล็ดกาแฟกลับบ้านเกิดเมืองนอน อย่างไรก็ตาม กว่าเยอรมนีจะมีร้านกาแฟห่งแรกก็ปาเข้าไปในปี 1720
ในขณะที่ชาวดัทช์ (เนเธอร์แลนด์) รู้จักเมล็ดกาแฟจากชาวมุสลิมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นพวกเขาก็ทำไร่กาแฟขนาดใหญ่ที่เกาะชวา อินโดนีเซีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของดัทช์ และพ่อค้าดัทช์ก็ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้เมื่อกลายเป็นผู้นำในการนำเข้าและจำหน่ายกาแฟของยุโรป
กาแฟในทวีปอเมริกา
ฝรั่งเศสเป็นผู้นำกาแฟสู่ทวีปอเมริกาผ่านส่วนต่างๆ ของทวีปที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในขณะนั้น โดยได้เริ่มทำไร่กาแฟที่มาร์ตินิคและเวสต์อินดีส
ครัวซองต์ (croissant)
เมื่อมีกาแฟก็ต้องมีครัวซองต์ ถือเป็นของคู่กันสำหรับมื้อเช้า ตำนานมีหลายแบบ แต่ที่ฮิตสุดก็คือครัวซองต์เกิดขึ้นในปี 1686 เมื่อคนทำขนมปังชาวฮังกาเรียนได้ทำขนมปังรูปจันทร์เสี้ยว (เครสเซนต์ – Crescent) ขึ้นมารับประทานเพื่อฉลองชัยชนะที่มีต่อกองทัพจักรวรรดิมุสลิมออตโตมันเติร์ก (เติร์กล้อมกรุงบูดาเปสต์) ทั้งนี้เพราะธงจักรวรรดิออตโตมันเป็นรูปดาวและจันทร์เสี้ยว ในเวลาต่อมาขนมปังรูปเครสเซนต์หรือจันทร์เสี้ยวนี้ก็เรียกกันทั่วโลกว่า ‘ครัวซองต์ – croissant’ ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส (เรียกว่ากินซะให้หายแค้น เนื่องจากฮังการีเป็นอาณานิคมของพวกมุสลิมเติร์กซะหลายร้อยปี ดาวและจันทร์เสี้ยวคือสัญลักษณ์ของจักรวรรดิออตโตมันที่เป็นผู้นำของโลกมุสลิมมา 600 ปีเต็มจนสิ้นสุดในปีค.ศ.1922 คนส่วนใหญ่ก็เลยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม ทั้งๆ ที่อิสลามไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ – อีกประการหนึ่ง ตำนานครัวซองต์มีหลายเวอร์ชั่น แล้วแต่จะว่ากันไป แต่ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับออตโตมัน – ผู้แปล)
บทสรุป
บทความชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทด้านอื่นๆ ของโลกมุสลิมที่มีต่อยุโรป นอกเหนือไปจากด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และสถาปัตยกรรม โลกมุสลิมมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมยุโรปแม้กระทั่งอาหารและเครื่องดื่ม และเรื่องราวของกาแฟก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของบทบาทชาวมุสลิมเท่านั้น.
ที่มา: The Coffee Trail: Origins of the Muslim beverage. Foundation for Science Technology and Civilization (FSTC Limited). 25 June 2003.
http://www.muslimheritage.com/features/default.cfm?ArticleID=378
http://en.wikipedia.org/wiki/Coffee
http://en.wikipedia.org/wiki/Croissanthttp://www.musliminventionsthailand.com/main/thirdpage.php?style=preview&spv=29&tpv=138
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น