ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia mangostana L.
ชื่อสามัญ : Mangosteen
วงศ์ : Guttiferae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10 - 12 เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 6 - 11 ซม. ยาว 15 - 25 ซม. เนื้อใบหนา และค่อนข้างเหนียว คล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ท้องใบสีอ่อน ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง สมบูรณ์เพศ หรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลมส่วนที่ใช้ : เปลือกผลแห้ง
สรรพคุณ :
1. รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้
2. ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน
3. ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูก และอาจมีเลือดด้วย) เป็นยาคุมธาตุ
4. เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล
5. รสฝาด สมานแผล ใช้ชะล้างบาดแผล แก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง ยาฟอกแผลกลาย ทาแผลพุพอง
วิธีและปริมาณที่ใช้
1. รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้
ใช้เปลือกมังคุดครึ่งผล (ประมาณ 4-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ถ้าเป็นยาดองเหล้า ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา
2. ยาแก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง
ใช้เปลือกผลมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำรับประทาน ใช้เปลือกต้มน้ำให้เด็กรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง
3. ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกและอาจมีเลือดด้วย)
ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ ½ ผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผง ละลายน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
4. เป็นยารักษาแผลน้ำกัดเท้า และแผลพุพอง แผลเน่าเปื่อย
เปลือกผลสด หรือแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ พอควร ทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย ทาแผลพุพอง แผลเปื่อยเน่า
ข้อควรระวัง
ก่อนที่จะใช้ยาทาที่บริเวณน้ำกัดเท้า ควรที่จะ
1. ล้างเท้าฟอกสบู่ให้สะอาด
2. เช็ดให้แห้ง
3. ถ้ามีแอลกอฮอล์เช็ดแผล ควรเช็ดก่อนจึงทายา
คุณค่าด้านอาหาร
มังคุดประกอบด้วย แร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิดที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
สารเคมี
Chrysanthemin, Xanthone, Garcinone A, Garcinone B, Gartanin, Mangostin, Kolanone
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น