29/6/52

ภัยคุกคามสุขภาพเยาวชน

5 ผลงานวิจัยบ่งชี้ภัยคุกคามสุขภาพเด็กนักเรียนประถม ระดับสายตา, การบริโภคขนม, โภชนาการ, โรคฟันผุ และโรคซนสมาธิสั้น นักวิจัยแนะผู้ปกครองเร่งเปลี่ยนพฤติกรรมบุตรหลาน

จากการนำเสนอผลงานวิจัยในชุดโครงการ Southern Health Watch มีงานวิจัย 5 เรื่อง นำเสนอข้อมูลภัยคุกคามต่อสุขภาวะของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยใช้โรงเรียนในจังหวัดเป็นพื้นที่วิจัย และสามารถสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจได้ดังนี้

ทุกๆ เด็กนักเรียน 6 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน และเรายังเข้าใจผิดว่าดื่มนมเปรี้ยวแล้วไม่อ้วน

จากผลงานวิจัยเรื่อง "พฤติกรรมการบริโภคอาหารว่างและขนมของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอำเภอหาดใหญ่ : ความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการ" โดย พญ.อารยา ตั้งวิฑูรย์ แสดงให้เห็นว่าในนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างนั้น มีความชุกของโรคอ้วนถึงร้อยละ 16 หรือทุกๆ นักเรียน 6 คน จะมีนักเรียนเป็นโรคอ้วน 1 คน

โดยนักเรียนชายมีอัตราเป็นโรคอ้วนกว่านักเรียนหญิง และนักเรียนในเขตเทศบาลมีเด็กอ้วนมากกว่านักเรียนนอกเขตเทศบาลถึง 1.4 เท่า นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดว่าหากดื่มนมเปรี้ยวแล้วจะลดปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนักเรียนควรดื่มนมจืดแทนนมเปรี้ยวและนมหวาน เด็กใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต วัยเรียนอยู่ใกล้กับความเสี่ยงโรคอ้วน

จากข้อมูลของงานวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อมในโรงเรียนกับการเปลี่ยนแปลงของโรคอ้วนในเด็กชั้นประถมศึกษาใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา" โดย พญ.อมรพรรณ ฐิติบุญสุวรรณ มีผลสรุปที่น่าสนใจชี้ให้เห็นว่า ความชุกของโรคอ้วนในนักเรียนที่อยู่ในเขตเมืองเพิ่มสูงขึ้นจากปี 48 จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 13.7

ซึ่งมีปัจจัยมาจากอาหารว่าง ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งมีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก ซ้ำยังมีประโยชน์ทางโภชนาการน้อย ได้แก่ อาหารทอด, ไอศครีม, น้ำอัดลม ซึ่งโรงเรียนราว 1 ใน 4 จากจำนวนโรงเรียนตัวอย่างไม่มีนโยบายงดจำหน่ายน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบภายในโรงเรียน

อาหารเสี่ยงฟันผุเกลื่อนรอบโรงเรียน จากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง "ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดโรคฟันผุของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดสงขลา" โดย ทพญ.เสมอจิต พงศ์ไพศาล เปิดเผยว่า โรงเรียนจากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 95 มีนโยบาย/กิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก และร้อยละ 86 มีนโยบายควบคุมอาหารเสี่ยงในโรงเรียน แต่เกือบทั้งหมดไม่สามารถควบคุมร้านค้านอกโรงเรียนได้ นอกจากนี้ ที่สำคัญครูและผู้จำหน่ายขาดความเข้าใจเรื่องอาหารกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุอีกด้วย

ทั้งนี้ อาหารกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ อาทิ ช็อกโกแลตเวเฟอร์ นมเปรี้ยว เยลลี่ ลูกอม น้ำอัดลม ขนมถุง/กล่อง ผลไม้กวน โดยนักวิจัยเสนอแนะให้นักเรียนเลือกทานอาหารที่เหมาะสม เช่น ผลไม้สด ขนมไม่หวาน นมรสจืด

นักวิจัยแนะนักเรียนปรับพฤติกรรมการใช้สายตา

รศ.วรรณี จันทร์สว่าง ได้สรุปผลจากงานวิจัยเรื่อง "ระดับสายตาและพฤติกรรมการใช้สายตาของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา" ว่าจากการวิจัยทำให้ทราบว่านักเรียนประมาณร้อยละ 9 จากกลุ่มตัวอย่างมีความผิดปกติของระดับสายตา โดยนักเรียนในช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6) มีอาการสายตาสั้นมากกว่านักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) กว่าเท่าตัว และพบว่า นักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 มีอาการสายตาเอียงมากกว่าช่วงชั้นที่ 2

โรคซนสมาธิสั้น-แนะผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง

โรคซนสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit/Hyperactivity Disorder) เป็นอาการตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ซึ่งมีอาการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ขาดสมาธิ, ซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่พอจะทราบ 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค คือปัจจัยทางพันธุกรรม, ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) โรคขาดอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน) เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เหมาะสม ปัญหาทางด้านจิตใจของพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็ก

ทั้งนี้ จะพบอาการได้มากในวัยอนุบาล และมีอาการชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าวัยประถม วัยรุ่น บางรายอาจมีอาการหลงเหลือจนล่วงเข้าวัยผู้ใหญ่ และส่งผลต่อการเข้าสังคม การเรียน การทำงาน และจากผลงานวิจัยเรื่อง "ความชุกของโรคซนสมาธิสั้นในนักเรียนประถมของโรงเรียนในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา" โดย พญ.วรลักษณ์ ภัทรกิจนิรันดร์ พบว่าความชุกของโรคซนสมาธิสั้นในนักเรียนประถมของโรงเรียนในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 8.75% ในขณะที่ความชุกของโรคดังกล่าวในประเทศไทยมีอัตราต่ำกว่าที่ 3-5% และมีอัตราสูงกว่าประเทศที่เจริญแล้ว เช่น อังกฤษและอเมริกา ที่มีความชุกระหว่าง 1.7-4%

นักวิจัยยังบอกอีกว่า แม้ว่าเด็กที่มีอาการของโรคซนสมาธิสั้นมักจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี สนุกสนาน คิดเร็วทำเร็ว แต่หากเด็กยังมีอาการดังกล่าวจนเข้าสู่วัยประถมและวัยรุ่น ตลอดจนวัยทำงานจะส่งผลต่อการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมได้ และก่อให้เป็นปัญหาชีวิตในที่สุด ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจและแยกแยะพฤติกรรมของลูกหลานตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์จะเป็นการดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น